รวมวิธีตรวจรับบ้านหรือคอนโด ก่อนโอนเป็นของเรา
ใครที่ใกล้กำลังโอนรับบ้านหรือคอนโด สิ่งที่ต้องตั้งใจทำและห้ามละเลยเด็ดขาดคือการตรวจรับก่อนโอนอสังหาริมทรัพย์มาเป็นของเรา ไม่ว่าโครงการไหน ยากที่จะทำทุกอย่างได้สมบูรณ์แบบ การตรวจสอบนั้นไม่ยากเลย มาดูกันดีกว่า
1. ให้เตรียมอุปกรณ์การไปตรวจสอบให้พร้อม ตั้งแต่แบบฟอร์มกระดาษที่ต้องตรวจสอบรายการต่างๆ ในบ้าน (หาได้จากอินเตอร์เนต) กล้องถ่ายรูป ตลับเมตร เหรียญสิบบาท เชือก อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดพกพา และไฟฉาย เป็นต้น
2. ให้เดินดูรอบบ้าน ตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงหลังบ้าน มองถึงส่วนของใต้หลังคาเท่าที่จะสังเกตได้ ดูพื้นที่จอดรถ ประตูเหล็กทางเข้าบ้านจนถึงแนวรั้วติดตั้งได้ดีหรือไม่ การดันหรือเปิดประตูรั้วหน้าบ้านต้องไม่ติดขัด การตรวจประตูเปิด-ปิดเข้าตัวบ้านและหลังบ้าน การตรวจกลอนประตูหรือลูกบิดทุกประตู ไล่ทดสอบเปิด-ปิดหรือบานเลื่อนหน้าต่างทุกบาน ตรวจดูวงกบได้ฉากพอดีกับบานประตูหรือไม่ เมื่อได้เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว ควรเปลี่ยนลูกบิดประตูทางเข้าบ้านและหลังบ้านใหม่ทันที เลือกที่มีคุณภาพ ให้มั่นใจว่าไม่มีการถูกแอบปั๊มแม่กุญแจมาก่อน
3. การตรวจสอบระบบน้ำ ตรวจสอบมิเตอร์น้ำหน้าบ้าน ตรงวาล์วเปิด-ปิด ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ต้องไม่มีน้ำหยดตรงข้อต่อมิเตอร์ หากหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่ในโซนน้ำประปาไหลอ่อน การตรวจรับบ้านอาจยังไม่มีการตั้งเครื่องปั๊มน้ำทันที เมื่อตรวจสอบทุกก๊อกน้ำอาจจะมีน้ำไหลน้อยนิด ให้ตรวจสอบทีละก๊อกทิ้งไว้สัก ดูการไหลของน้ำอย่างละเอียด
4. ตรวจสอบระบบไฟฟ้า ให้ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า โดยสับคัตเอาท์หรือปิดสวิตช์ตู้ไฟเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าเข้าบ้าน ดูมิเตอร์ว่าเฟืองเหล็กหมุนปกติหรือไม่ หากหมุนแสดงว่ากระแสไฟรั่ว ต่อมาตรวจดูเครื่องตัดไฟรั่วที่ตู้ไฟ โดยกดปุ่มทดสอบ หากมีการตัดกระแสไฟ สวิตช์หรือคันโยกจะตกลงมา จากนั้นดูปลั๊กไฟในบ้าน ถ้าพบรอยไหม้หรือแตกร้าวให้เปลี่ยนใหม่ ก่อนทดสอบเสียบปลั๊กด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เตรียมมามีไฟเข้าหรือไม่ และตรวจสอบเปิด-ปิดสวิตช์ไฟทุกดวงในบ้าน
5. ตรวจสอบผนังห้องจนถึงฝ้าเพดาน สังเกตมีรอยแตกร้าวหรือไม่ สีที่ทา ห้องที่ติดวอลเปเปอร์ต้องเรียบเสมอหมด ตรวจสอบพื้นกระเบื้อง ปูเป็นแนวตรงพอดีหรือไม่ หรือใช้เชือกขึงดูแนวกระเบื้องตรงกันหรือไม่ การปูกระเบื้องต้องได้ระดับเสมอกันทั้งห้อง ให้เอาเหรียญวางระหว่างรอยต่อของแผ่น ใช้นิ้วกด หากเหรียญกระดกขึ้นแปลว่ากระเบื้องไม่ได้ระดับ และลองใช้เหรียญเคาะลงพื้นกระเบื้อง หากเสียงไม่เท่ากันในแต่ละจุด แสดงว่าหยอดเนื้อปูนไม่สม่ำเสมอ พื้นกระเบื้องจะหลุดแตกในภายหลังได้ นอกจากนี้ พื้นห้องน้ำรวมทั้งพื้นระเบียงนอกบ้าน ต้องไม่มีน้ำขัง และตรวจสอบรอยต่อชักโครกในห้องน้ำ การกดชักโครกดูน้ำไหลลงปกติหรือไม่
6. จุดไหนที่มีการให้แก้ไข ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ทั้งหมดเพื่อเปรียบเทียบ Before และ After ปกติจะมีใบตรวจการแก้ไขเพื่อให้เซ็นรับไว้ ให้ตรวจสอบถี่ถ้วนว่าต่อมาได้แก้ไขตามที่ระบุหรือไม่ ถ้ายังไม่เรียบร้อยก็ต้องให้แก้ไขต่อไป หากปล่อยผ่านภาระการซ่อมแซมจะตกเป็นของเราทั้งหมด
และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเข้าอยู่อาศัย และช่วยคุ้มครองหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สามารถซื้อประกันภัยบ้าน หรือประกันภัยคอนโดเพิ่มเติมได้ ในราคาเบี้ยที่ถูกใจ สามารถเข้าไปดู ที่ https://www.axa.co.th/home-and-family-insurance
#AXAThailland #KnowYouCan #ประกันภัยบ้านและคอนโด